ผิวหนัง ถือได้ว่าเป็นอวัยวะส่วนใหญ่ที่ปกคลุมห่อหุ้มทั่วร่างกายของเรา ภายในมีปลายประสาทรับความรู้สึกจำนวนมากในการรับรู้การสัมผัสต่างๆ ความรู้สึกเจ็บและอุณหภูมิร้อนเย็น ระบบผิวหนังมีหน้าที่สำคัญในการควบคุมอุณหภูมิของร่างกาย และยังมีหน้าที่เป็นอวัยวะขับเหงื่อกับไขมันด้วย

ผิวหนังมีความยืดหยุ่นได้มาก เพราะบนผิวหนังมีรูเล็กๆ อยู่ทั่วไป ซึ่งเรียกว่ารูเปิดของขุมขน ท่อของต่อมไขมัน และต่อมเหงื่อ ผิวหนังที่ฝ่ามือ ฝ่าเท้า มีรอยนูนเป็นสันจำนวนมาก โดยเฉพาะที่ปลายนิ้วมือทั้งห้ามีสันนูนเรียงกันเป็นร้อยหวาย หรือก้นหอย 

โครงสร้างของผิวหนังมีส่วนประกอบ  3 ชั้น ได้แก่ ชั้นหนังกำพร้า (Epidermis), ชั้นหนังแท้ (Dermis) และชั้นไขมัน (Subcutis) ในแต่ละชั้นจะแบ่งเป็นชั้นย่อยๆ อีกหลายชั้น และมีต่อมต่างๆ อีกมากมาย เช่น ต่อมเหงื่อ ต่อมไขมัน เป็นต้น ซึ่งจะมีหน้าที่แตกต่างกันออกไป ดังรายละเอียดต่อไปนี้

1.หนังกำพร้า (Epidermis) เป็นชั้นของผิวหนังที่ปกคลุมอยู่บนสุดหรือภายนอกสุด หนาตั้งแต่ 0.3 ถึง 1 มิลลิเมตร ประกอบไปด้วยเซลล์ที่มีการเรียงซ้อนกันเป็นชั้นๆ และเกิดใหม่อยู่เสมอ โดยที่เซลล์ใหม่จะถูกสร้างจากชั้นล่างสุดติดกับหนังแท้ เมื่อเจริญเติบโตขึ้นแล้วก็จะเคลื่อนตัวมาทดแทนเซลล์ที่อยู่ชั้นบนจนถึงชั้นบนสุด จากนั้นก็กลายเป็นขี้ไคล (Keratin) หลุดลอกออกไป นอกจากนี้ที่ชั้นหนังกำพร้ายังมีเซลล์สร้างเม็ดสีที่เรียกว่า เมลานิน (Melanin) ปะปนอยู่ด้วย เมลานินจะมีจำนวนมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลและเชื้อชาติ ที่ทำให้สีผิวของทุกคนไม่เหมือนกัน ในชั้นของหนังกำพร้าไม่มีหลอดเลือด เส้นประสาท และต่อมต่างๆ นอกจากเป็นทางผ่านของรูเหงื่อ เส้นขน และไขมันเท่านั้น

 2.หนังแท้ (Dermis) เป็นผิวหนังที่อยู่ชั้นถัดไปจากหนังกำพร้า แต่หนากว่าหนังกำพร้ามากประกอบด้วยเส้นใยพังผืดเป็นส่วนใหญ่ประสานไขว้กันไปมาและโปรตีนหลัก 2 ชนิด คือ เนื้อเยื่อคอลลาเจน (Collagen) เนื้อเยื่ออีลาสติน (Elastin)  โดยคอลลาเจน จะทำหน้าที่สร้างความแข็งแรงให้กับผิวหนัง และช่วยในการซ่อมแซม ฟื้นฟูสภาพผิวหนังที่บาดเจ็บซึ่งหากสร้างในปริมาณมากเกินไปก็จะเกิดเป็นแผลเป็นนั่นเอง ส่วนอีลาสติน ทำหน้าที่สร้างความยืดหยุ่นให้กับผิวหนัง และในชั้นหนังแท้นี้ก็ยังเป็นที่อยู่ของ หลอดเลือดขนาดเล็ก เส้นประสาท กล้ามเนื้อเกาะเส้นขน ต่อมไขมัน ต่อมเหงื่อ ท่อน้ำเหลือง เซลล์ไฟโบรบลาส (Fibroblast) ซึ่งเป็นตัวที่สร้างเส้นใยคอลลาเจนและอีลาสติน

3.ชั้นใต้ผิวหนัง (Subcutaneous tissue) หรือ ชั้นไขมัน (Subcutaneous) เป็นชั้นที่อยู่ลึกที่สุดประกอบด้วยเซลล์ไขมันเป็นหลัก  ชั้นนี้จะมีโครงสร้างของเส้นใยคอลลาเจนและเซลล์ไขมัน ช่วยในการเก็บสะสมพลังงานความร้อนไม่ให้สูญเสียออกนอกร่างกาย ความหนาขึ้นกับปริมาณไขมันของแต่ละบุคคล ชั้นนี้ทําหน้าที่คล้ายฉนวนกันความร้อนให้ร่างกาย ช่วยลดแรงกระทบกระแทกจากภายนอก และชั้นไขมันที่มีมากโดยเฉพาะบริเวณสะโพก เอว ต้นขา ที่เรียกว่าเซลลูไลท์ (Cellulite) ก็คือไขมัน ที่มีเนื้อเยื่อคล้ายพังผืดแทรกอยู่จึงก่อให้เกิดการดึงรั้งผิวหนังเห็นเป็นลอนๆ ซึ่งมองเห็นได้จากภายนอก 

หน้าที่ของผิวหนัง (Function of Skin) : ในการที่ผิวหนังห่อหุ้มร่างกายไว้ทั้งหมด จึงมีหน้าที่ที่สำคัญ ได้แก่ 

  • การป้องกันสิ่งต่างๆ (Skin barrier) เช่น เรื่องการสูญเสียน้ำของผิวหนัง การป้องกันเชื้อโรคหรือสิ่งแปลกปลอม เป็นด่านแรกของร่างกาย การป้องกันรังสียูวีจากแสงแดด เป็นต้น ตลอดจนการรับความรู้สึก การฟื้นฟูบาดแผลต่างๆ
  • ผิวหนังช่วยป้องกันอันตรายจากภายนอก อีกทั้งยังแสดงถึงความมีสุขภาพดีอีกด้วย
  • การรับรู้ถึงความร้อน, เย็น การระเหยของน้ำในผิว โดยผิวหนังชั้นนอกสุด (Horny layer) จะทำหน้าที่ปกป้องผิวจากปัจจัยต่างๆ เหล่านี้และจำกัดการระเหยของน้ำออกจากผิว
  • มีสารที่ให้ความชุ่มชื้นตามธรรมชาติ (Natural moisturizing factor) จากน้ำมัน ภาวะความเป็นกรดอ่อนที่ผิว และ
    ยูเรีย เมื่อมารวมกับน้ำในผิวก็จะทำให้ผิวมีความนุ่ม ชุ่มชื่น มีความกระชับยืดหยุ่น แต่ถ้ามีความบกพร่องหรือความชุ่มชื่นลดลงก็อาจเป็นสาเหตุให้ผิวแห้ง หยาบกร้านและลอกเป็นขุยได้
  • เมื่อผิวต้องสัมผัสกับรังสียูวีจากแสดงแดด ก็จะมีการผลิตเม็ดสีเมลานินเพิ่มขึ้น ทำให้สีผิวดูเข้มขึ้นและถ้าหากมีการสะสมของเม็ดสีเมลานินมากขึ้นเรื่อยๆ อาจเกิดเป็นฝ้า กระ จุดด่างดำได้ (Hyper-pigmentation) 
  • การควบคุมอุณหภูมิ นั่นหมายถึง ผิวหนังจะทำหน้าที่ขับเหงื่อออกมาเพื่อปรับให้ร่างกายเย็นขึ้น และจะส่งผลให้หลอดเลือดในชั้นหนังแท้เกิดการหดตัวเพื่อรักษาความร้อนเอาไว้
  • การควบคุมความรู้สึกเพราะเส้นประสาทที่อยู่ภายในชั้นผิวหนังจะทำหน้าที่รับความรู้สึกเจ็บปวด การสัมผัส แรงสั่นสะเทือน การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมินั่นเอง
  • ทำหน้าที่ควบคุมอุณหภูมิของร่างกายด้วยการระบายความร้อนออกจากร่างกายผ่านทางผิวหนัง รวมทั้งขับถ่ายของเสียออกจากร่างกายผ่านต่อมเหงื่อ ซึ่งจะเห็นชัดว่าในหน้าร้อนจะมีเหงื่อออกมาก
  • หน้าที่ในกระบวนการฟื้นฟูผิวซึ่งผิวหนังสามารถซ่อมแซมและฟื้นฟูตัวเองได้เมื่อเกิดบาดแผล
  • เป็นแหล่งอาหารให้กับเซลล์ผิวโดยเซลล์ไขมันในชั้นไขมันจะคอยเก็บรักษาพลังงานและสารอาหารไว้ เพื่อส่งมาเลี้ยงเซลล์ผิวโดยผ่านทางหลอดเลือด
  • ผิวหนังยังเป็นสิ่งที่แสดงถึงความมีสุขภาพดี เช่นผิวหมอง ไม่สดใส แสดงถึงภาวะความเป็นโรค เมื่อผิวมีสุขภาพดี ปราศจากปัญหาก็จะทำให้เรามั่นใจมากขึ้น
  • เป็นแหล่งสร้างวิตามินดี ซึ่งเกิดจากปฏิกิริยาของแสงอัลตราไวโอเลตของแสงอาทิตย์ต่อสเตอรอล (Sterol) ในผิวหน้า ซึ่งป้องกันโรคกระดูกอ่อน

ทั้งหมดนี้ก็คือบางส่วนที่สำคัญเกี่ยวกับผิวหนังของเราที่ทุกคนควรทราบ เพื่อจะได้เห็นถึงความสำคัญของการดูแลผิวในชีวิตประจำวันและมีความเข้าใจเรื่องต่างๆเกี่ยวกับผิวหนังมากขึ้นด้วย

 

แหล่งที่มาข้อมูล : 

https://meded.psu.ac.th/binla/class05/388_573/intro_to_dematology/index.html

https://www.eucerin.co.th/about-skin/basic-skin-knowledge/skin-structure-and-function

http://haamor.com/th/ระบบผิวหนัง/

Leave a comment